นํ้าตาไหล นํ้าตาคลอ บ่อนํ้าตาตื้น ถุงนํ้าตาเป็นหนอง เทคนิคการรักษา โดยไม่ต้องผ่าตัด
ปกติดวงตาของคนเรา จะมีการสร้างนํ้าตาออกมาตลอดเวลา เพื่อให้ความชุ่มชื้น และช่วยหล่อลื่นให้กับดวงตา วันหนึ่งๆ คนเราจะกระพริบตาหมื่นกว่าครั้ง ถ้าการสร้างนํ้าตาออกมาหล่อลื่นไม่เพียงพอ จะเกิดการเสียดสีระหว่างเปลือกตากับลูกตา ทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา แสบตา หรือถึงขั้นผิวกระจกตาเป็นแผลได้
บริเวณหัวตา จะมีรูเปิดของระบบระบายนํ้าตา ซึ่งจะระบายนํ้าตาส่วนเกินลงไปในช่องจมูก แล้วกลืนลงคอไปเอง ( ใช้อธิบายว่า ทำไมหลังจากหยอดยาตาบางชนิดสักพักหนึ่ง จะรู้สึกขมในลำคอ ) อัตราการสร้างนํ้าตา และการระบายนํ้าตา จะต้องสมดุลย์กัน จึงจะไม่เกิดปัญหาตาแห้งหรือนํ้าตาคลอเบ้า
ระบบระบายนํ้าตา ประกอบด้วย
1. รูเปิดรับนํ้าตา ที่ขอบของเปลือกตาบนและล่าง ในบริเวณหัวตา ( Punctum )
2. ท่อระบายนํ้าตาส่วนต้น ( Canaliculus )
3. ถุงนํ้าตา ( Lacrimal sac )
4. ท่อระบายนํ้าตาส่วนปลาย ( Naso-lacrimal duct ) ซึ่งเป็นส่วนที่ยาวที่สุด เป็นท่อที่ทะลุผ่านกระดูกบริเวณดั้งจมูก เข้าไปในช่องจมูก ท่อส่วนนี้ เป็นตำแหน่งที่พบการอุดตันได้บ่อยที่สุด และรักษาให้กลับคืนสภาพได้ยากที่สุด ในตำรามาตรฐานทางจักษุวิทยา และจักษุแพทย์ส่วนใหญ่ มีความเชื่อว่า การฟื้นสภาพการทำงานของท่อระบายนํ้าตาส่วนนี้ที่เคยอุดตันมาก่อน ให้กลับมามีสภาพการใช้งานได้ดังเดิม เป็นไปไม่ได้ การรักษาโดยทั่วไป จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัด และกรอกระดูกในบริเวณดั้งจมูกให้ทะลุเป็นช่อง เพื่อสร้างทางระบายนํ้าตาขึ้นมาใหม่ ที่เรียกว่า การผ่าตัด DCR ( Dacryocystorhinostomy )
โรคนํ้าตาไหลที่มีสาเหตุจากท่อระบายนํ้าตาตีบตัน
สามารถแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ในเด็กแรกคลอด ( Congenital naso-lacrimal duct obstruction )
มีสาเหตุจากการสร้างท่อของระบบระบายนํ้าตา ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ทำให้เด็กแรกคลอดมีอาการ นํ้าตาคลอ ตาแฉะ หรือมีขี้ตาเกรอะกรังจากการติดเชื้อแทรก และอาจจะรุนแรงถึงขั้นถุงนํ้าตาเป็นหนอง การรักษาแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ
1.1 ในช่วงอายุ 2 เดือนแรก แนะนำนวดหัวตาแบบ M2 และใช้ยาหยอดตา ยาป้ายตา เพื่อรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อแทรก
1.2 เมื่ออายุ 3 8 เดือน ถ้าการรักษาในหัวข้อ 1.1 แล้วยังไม่หาย การรักษาในขั้นตอนต่อไป คือการใช้นํ้าเกลือ ล้างเข้าไปในถุงนํ้าตา เพื่อขจัดความหมักหมมและการติดเชื้อ นอกจากนี้ แรงดันของนํ้าเกลือที่ฉีดเข้าไปในระบบระบายนํ้าตา อาจช่วยดันจุดที่อุดตันให้เปิดออก
1.3 ถ้าอายุ 8 เดือนแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น จะแนะนำการรักษาด้วยการใช้ลวดสเตนเลส แยงให้ผ่านบริเวณที่อุดตัน ภายใต้การดมยาสลบ สามารถรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้หายขาดได้ด้วยวิธีนี้
หมายเหตุ ถ้าเด็กอายุมากกว่า 1 ปี ผลสำเร็จในการรักษาจะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น
2. กลุ่มที่มีปัญหาท่อระบายนํ้าตาอุดตัน โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ( Primary acquired naso-lacrimal duct obstruction )
พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มย่อยตามอายุ คือ
2.1 กลุ่มวัยทำงาน ( อายุน้อยกว่า 50 ปี )
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ตอบสนองเป็นอย่างดีกับการรักษาด้วยการฟื้นฟูสภาพท่อระบายนํ้าตาเดิม ที่เรียกว่า วิธีสยาม 1 และ วิธีสยาม 2 เกือบทั้งหมด สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีผ่าตัดสร้างทางระบายนํ้าตาใหม่ ที่เรียกว่า DCR
2.2 กลุ่มผู้สูงอายุ ( อายุมากกว่า 50 ปี )
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ตอบสนองกับการรักษาด้วยวิธีสยาม 1 และวิธีสยาม 2 ประมาณ 50 % ( ขณะนี้กำลังพัฒนาวิธีรักษาให้ได้ประสิทธิผลมากขึ้น ) สำหรับในรายที่ยังรักษาไม่ได้ผล และไม่ต้องการรักษาด้วยการผ่าตัด DCR สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติด้วยการนวดหัวตาแบบ M1 ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันการเกิดโรคถุงนํ้าตาเป็นหนองแทรก
3. กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาท่อระบายนํ้าตาอุดตัน จากอุบัติเหตุท่อระบายนํ้าตาฉีกขาด หรือกระดูกดั้งจมูกยุบตัวจากแรงกระแทกที่รุนแรง ( Secondary acquired naso-lacrimal duct obstruction )
ตามทฤษฎีแล้ว ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องรับการรักษาโดยการผ่าตัด DCR เพื่อสร้างทางระบายนํ้าตาขึ้นมาใหม่เท่านั้น ยกเว้นในรายที่สามารถใช้ลวดสเตนเลส แยงผ่านบริเวณที่อุดตันเข้าไปในช่องจมูกได้ ก็อาจจะรักษาได้ด้วยวิธีสยาม 1 หรือ สยาม 2
-->เข้าสู่โฮมเพจหลัก ผลงานวิจัยของ นพ. สมเกียรติ อธิคมกุลชัย<--